อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โน
อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โน | |
---|---|
เกิด | 28 สิงหาคม ค.ศ. 1801 เกร ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 31 มีนาคม ค.ศ. 1877 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (75 ปี)
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยซอร์บอน |
มีชื่อเสียงจาก | คณิตเศรษฐศาสตร์ การแข่งขันแบบกูร์โน |
อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โน (ฝรั่งเศส: Antoine-Augustin Cournot; 1801–1877) เป็นนักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส กูร์โนเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่นำหลักคณิตวิเคราะห์มาใช้ในงานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นระบบ แบบจำลองทางทฤษฎีของกูร์โนในเรื่องการผูกขาดและการผูกขาดโดยผู้ขายน้อยราย ยังคงเป็นแนวคิดสำคัญในเศรษฐศาสตร์จุลภาคสมัยใหม่ โดยเฉพาะแบบจำลองการผูกขาดโดยผู้ขายน้อยรายมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่าการแข่งขันแบบกูร์โน
งานของกูร์โนได้รับคำชื่นชมจากและมีอิทธิพลต่อนักคณิตเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในยุคหลังหลายคน เช่น วิลเลียม สแตนลีย์ เจวอนส์, เลอง วาลรัส และอัลเฟรด มาร์แชล
ประวัติ
[แก้]อ็องตวน-โอกุสแต็ง กูร์โน เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1801 ที่เมืองเกร จังหวัดโอต-โซน ประเทศฝรั่งเศส กูร์โนศึกษาที่โรงเรียนในเมืองเกิดจนถึงอายุ 15 ปี หลังจากนั้นเขาได้ศึกษาด้านคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนในเมืองเบอซ็องซงในปี 1820 ในหนังสือบันทึกความทรงจำที่กูร์โนเขียนในภายหลัง กูร์โนเล่าว่าเขาได้อ่านงานด้านคณิตศาสตร์ของปีแยร์-ซีมง ลาปลัส และมาร์กี เดอ กงดอร์เซ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขา[1]
ในปี 1821 กูร์โนย้ายมายังกรุงปารีสเพื่อเข้าเรียนที่เอกอลนอร์มาลซูว์เปรีเยอร์ แต่สถาบันแห่งนี้ถูกปิดลงเพียงหนึ่งปีให้หลังด้วยเหตุผลทางการเมือง กูร์โนจึงย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนในปารีส จนได้รับปริญญาบัตรในสาขาคณิตศาสตร์ในปี 1823[1] ในช่วงที่เขาเข้าเรียนที่ซอร์บอน กูร์โนได้พบและเข้าเรียนกับนักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ลาปลัส, ลากร็องฌ์, ปัวซง, ฟูรีเย, เลอฌ็องดร์ และ โกชี[2] กูร์โนเขียนถึงช่วงเวลาที่เขาศึกษาที่ซอร์บอนว่า เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของเขา[1]
หลังจากจบการศึกษาจากซอร์บอน กูร์โนได้ทำงานให้กับจอมพลโลร็อง เดอ กูวียง แซ็ง-ซีร์ อดีตผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสสมัยสงครามนโปเลียน โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเขียนหนังสือและเป็นครูสอนหนังสือให้กับบุตรของแซ็ง-ซีร์ ในระยะสิบปีที่กูร์โนทำงานนี้ เขาได้ช่วยแซ็ง-ซีร์เรียบเรียงและตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำของแซ็ง-ซีร์ และในระหว่างนั้นเขาก็ได้ทำงานวิชาการในด้านกลศาสตร์และดาราศาสตร์ จนสำเร็จปริญญาเอกในปี 1829[2][3] แซ็ง-ซีร์เสียชีวิตในปี 1930 แต่กูร์โนยังคงทำงานเรียบเรียงและเผยแพร่งานเขียนส่วนที่เหลือของแซ็ง-ซีร์จนถึงปี 1933[2]
งานเขียนด้านคณิตศาสตร์ที่กูร์โนเคยเขียนสมัยเป็นนักศึกษา ทำให้เขาได้รับความสนใจจากซีเมอง เดอนี ปัวซง ในปี 1834 กูร์โนจึงได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ด้านคณิตวิเคราะห์และกลศาสตร์ที่ลียงด้วยคำแนะนำของปัวซง[1] หลังจากกูร์โนทำงานที่ลียงได้เพียงหนึ่งปี ปัวซงก็แนะนำให้กูร์โนรับตำแหน่งอธิการบดีของสำนักวิชาเมืองเกรอนอบล์ในปี 1835[1] ระหว่างที่ทำงานนี้ที่เกรอนอบล์ กูร์โนยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินขั่วคราวด้านการศึกษาแทนที่อ็องเดร-มารี อ็องแปร์ซึ่งเสียชีวิตอย่างกระทันหันในปี 1836 ก่อนที่เขาจะย้ายมารับตำแหน่งนี้อย่างถาวรในปี 1838[1] ในปีเดียวกันนี้ กูร์โนได้เข้าพิธีสมรสที่บ้านเกิดกับภรรยา โกล็องบ์- อ็องตัวแน็ต เปอตีกีโย[2] และตีพิมพ์หนังสือเศรษฐศาสตร์ Recherches sur les principes mathématiques de la théorie des richesses (งานวิจัยว่าด้วยหลักคณิตศาสตร์ของทฤษฎีทรัพย์)
กูร์โนได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ชั้นอัศวินในปี 1838 และชั้นเจ้าพนักงานในปี 1845[1]
หลังจากตีพิมพ์หนังสือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในปี 1838 เขาตีพิมพ์หนังสือด้านแคลคูลัสและทฤษฎีความน่าจะเป็นในปี 1841 และ 1843 และหนังสือด้านปรัชญาญาณวิทยาในปี 1851 และ 1861 หลังจากนั้น กูร์โนได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการ และย้ายไปเป็นอธิการบดีของสำนักวิชาเมืองดีฌงในปี 1854 ก่อนจะเกษียณตัวเองจากงานสอนและงานบริหารรัฐกิจต่างๆ ในปี 1862[1]
หลังจากเกษียน เขาย้ายกลับมาอาศัยที่กรุงปารีส และตีพิมพ์หนังสือเพิ่มเติมในสาขาเศรษฐศาสตร์และปรัชญา เขาประสบปัญหาตาบอดเกือบสนิทในช่วงบั้นปลาย ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1877 ด้วยอายุ 75 ปี[3]
งานด้านเศรษฐศาสตร์ของกูร์โน
[แก้]หนังสือ Recherches sur les principes mathématiques de la théorie des richesses (งานวิจัยว่าด้วยหลักคณิตศาสตร์ของทฤษฎีทรัพย์) ที่ได้ตีพิมพ์ในปี 1838 เป็นงานด้านเศรษฐศาสตร์ชิ้นแรกที่นำคณิตวิเคราะห์มาใช้อย่างเป็นระบบ[1][4] แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้รับความสนใจหรือการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเท่าใดนัก กูร์โนจึงได้เขียนหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์อีกสองเล่มเพื่อพยายามนำเสนอแนวคิดของเขา ได้แก่ Principes de la théorie des richesses (หลักทฤษฎีทรัพย์) ตีพิมพ์ในปี 1863 และ Revue sommaire des doctrines économiques (บทปริทัศน์สรุปแนวคิดทางเศรษฐกิจ) ตีพิมพ์ในปี 1877
เนื้อหาทฤษฎี
[แก้]ทฤษฎีในหนังสือ Recherches ครอบคลุมเนื้อหาหลายหัวข้อ ได้แก่ ทฤษฎีมูลค่า กฎอุปสงค์ การผูกขาด การผูกขาดโดยผู้ขายน้อยราย รายได้ประชาชาติ และการค้าระหว่างประเทศ โดยเนื้อหาที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อนักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังคือ กฎอุปสงค์ การผูกขาด และการผูกขาดโดยผู้ขายน้อยราย
กูร์โนเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกที่เขียนถึงปริมาณอุปสงค์ในรูปของฟังก์ชันของราคา โดยนิยาม เป็นปริมาณความต้องการซื้อสินค้าในแต่ละปี และ เป็นราคาเฉลี่ยของสินค้าในปีนั้นๆ กูร์โนตั้งข้อสมมติว่า ฟังก์ชันอุปสงค์นี้มีลักษณะต่อเนื่อง และราคากับปริมาณมีความสัมพันธ์ในลักษณะผกผันกัน การเขียนอุปสงค์ในรูปแบบของฟังก์ชันลักษณะนี้ ทำให้กูร์โนสามารถใช้หลักคณิตวิเคราะห์ในการระบุลักษณะของราคาที่ทำให้ได้รายได้สูงสุด และบรรยายเปรียบเทียบลักษณะของฟังก์ชันอุปสงค์ ในรูปแบบที่รู้จักกันในภายหลังว่าเป็นความยืดหยุ่นอุปสงค์
ด้วยฟังก์ชันอุปสงค์นี้ กูร์โนเสนอทฤษฎีการผูกขาด หากว่า คือต้นทุนการผลิตสินค้าปริมาณ ผู้ขายในตลาดผูกขาดจะได้กำไรเท่ากับ การกำไรสูงสุดจึงต้องมีลักษณะตามเงื่อนไข ซึ่งมีความหมายว่า รายรับหน่วยท้ายสุด (marginal revenue) จะต้องเท่ากับต้นทุนหน่วยท้ายสุด (marginal cost)
หลังจากทฤษฎีตลาดผูกขาด กูร์โนอธิบายทฤษฎีตลาดที่มีผู้ขายสองราย กูร์โนยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติว่า มีเจ้าของบ่อน้ำแร่สองบ่อที่แข่งขันกันในตลาดเดียวกัน กูร์โนเขียนอุปสงค์ในลักษณะที่ราคาเป็นฟังก์ชันของปริมาณ โดยที่ คือปริมาณน้ำแร่ทั้งหมดจากทั้งสองบ่อ
รายได้ของเจ้าของน้ำแร่บ่อหนึ่ง จะเท่ากับปริมาณน้ำแร่จากบ่อของตัวเอง คูณกับราคาตลาดที่ขึ้นกับปริมาณน้ำแร่รวม หรือ และรายได้ของเจ้าของน้ำแร่บ่อที่สองก็มีลักษณะเดียวกัน เจ้าของน้ำแร่แต่ละบ่อสามารถตัดสินใจได้ปริมาณสินค้าของตัวเอง แต่ไม่สามารถเลือกปริมาณของคู่แข่งได้ เจ้าของบ่อน้ำแร่แต่ละบ่อจึงต้องตัดสินใจโดยถือเอาว่าปริมาณสินค้าของคู่แข่งเป็นค่าคงตัว ดังนั้นเงื่อนไขการทำรายได้สูงสุดของเจ้าของบ่อน้ำแร่ที่หนึ่งคือ ในขณะที่เงื่อนไขของเจ้าของบ่อน้ำแร่ที่ 2 ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ จุด และ ที่เป็นคำตอบของระบบสมการข้างต้น จึงเป็นจุดที่ถือว่า "เสถียร" หากนำแต่ละสมการมาเขียนเป็นกราฟความสัมพันธ์ระหว่าง และ จุดตัดของกราฟทั้งสองก็คือจุดที่เป็นคำตอบดังกล่าว วิธีคิดลักษณะนี้ จัดว่าเป็นสมดุลแบบแนชรูปแบบหนึ่ง ทฤษฎีของกูร์โนแสดงให้เห็นว่า ในตลาดที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ขายมากกว่าหนึ่งราย ราคาสินค้าจะต่ำกว่าตลาดที่ผูกขาดโดยผู้ขายรายเดียว
กูร์โนใช้วิธีการพิสูจน์ลักษณะเดียวกันนี้วิเคราะห์กรณีที่มีลักษณะทั่วไปกว่าด้วย โดยได้เขียนแบบจำลองสำหรับจำนวนผู้ผลิตใดๆ และสามารถมีฟังก์ชันต้นทุนที่แตกต่างกันระหว่างผู้ผลิตแต่ละรายด้วย
อิทธิพลต่อแนวคิดเศรษฐศาสตร์
[แก้]แนวทางของทฤษฎีการผูกขาดและการผูกขาดโดยผู้ขายน้อยรายในรูปแบบที่กูร์โนเขียน ยังคงเป็นพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน[4][5] แต่ในช่วงแรกหลังจากตีพิมพ์ หนังสือ Recherches ของกูร์โนไม่ได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นมากนัก ในช่วงยี่สิบห้าปีแรกหลังตีพิมพ์ บทวิจารณ์ชื่นชมฉบับเดียวที่พบคือบทวิจารณ์ของเจ. บี. เชอร์รีแมน นักคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ซึ่งเขียนวิจารณ์ชื่นชมหนังสือของกูร์โนในปี 1857 ในวารสารวิชาการในแคนาดา[6]
การตีพิมพ์หนังสือ Principes ในปี 1863 ทำให้งานด้านเศรษฐศาสตร์ของกูร์โนได้รับการอภิปรายกันในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงงานชิ้นก่อนหน้าของเขาด้วย แต่ว่างานของกูร์โนก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในทันที ในปี 1864 รอเฌ เดอ ฟงต์แน เขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มใหม่ของกูร์โนลงในวารสารด้านเศรษฐศาสตร์ของฝรั่งเศส โดยเขียนถึงเนื้อหาของ Recherches ด้วยในคราวเดียวกัน ถึงแม้ว่าฟงต์แนเห็นด้วยกับการใช้คณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ เขาวิจารณ์แนวทางการใช้คณิตศาสตร์ของกูร์โน โดยมองว่าการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้คณิตศาสตร์ในลักษณะทั่วไปแบบกูร์โนเพราะยังมีข้อสังเกตจากข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ ฟงต์แนยังวิจารณ์ทฤษฎีด้านการค้าระหว่างประเทศของกูร์โนเป็นการเฉพาะ และวิจารณ์ว่าแนวทางทฤษฎีของกูร์โนที่มีมองระบบเศรษฐกิจในลักษณะของกลศาสตร์ เป็นแนวคิดที่มีแนวโน้มไปทางสังคมนิยม[7] ในปีเดียวกันนี้ ปอล-กุสตาฟว์ โฟโว เผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งวิจารณ์ทฤษฎีการผูกขาดโดยผู้ขายน้อยรายของกูร์โน ว่าเป็นแบบจำลองที่ผิดจากความเป็นจริง[6][7] อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ก็มีบทวิจารณ์งานของกูร์โนในทางบวกด้วย เลอง วาลรัส ผู้ซึ่งเคยได้อ่านหนังสือ Recherches มาในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาในปี 1853-1854 ได้เขียนบทวิจารณ์ชื่นชมงานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของกูร์โนหลังจากที่ Principes ตีพิมพ์[6][7] วาลรัสเป็นนักคณิตเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา แต่ขณะนั้นที่เขียนบทวิจารณ์นี้ วาลรัสยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และบทวิจารณ์นี้ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารเฉพาะทาง บทวิจารณ์ของวาลรัสในขณะนั้นจึงไม่ได้รับความสนใจจากแวดวงเศรษฐศาสตร์เช่นกัน[6]
งานของกูร์โนมาได้รับการยอมรับอย่างมากจากนักคณิตเศรษฐศาสตร์หลังปี 1870 เป็นต้นมา เช่น เลอง วาลรัส, วิลเลียม สแตนลีย์ เจวอนส์, อัลเฟรด มาร์แชล และฟรานซิส เอดจ์เวิร์ท ผู้ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิก โดยนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ได้เขียนยกย่องผลงานหนังสือ Recherches ว่าเป็นงานคณิตเศรษฐศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง[5][6] แนวทางการวิเคราะห์การผูกขาดโดยผู้ขายน้อยรายของกูร์โน มีลักษณะเป็นตัวอย่างหนึ่งของสมดุลแบบแนชที่นิยามและศึกษาในภายหลัง
ผลงานตีพิมพ์
[แก้]- Recherches sur les principes mathématiques de la théorie de la richesses (งานวิจัยว่าด้วยหลักคณิตศาสตร์ของทฤษฎีทรัพย์; 1838)
- Traité élémentaire de la théorie des fonctions et du calcul infinitésimal (ศาสตรนิพนธ์ขั้นต้นเรื่องทฤษฎีฟังก์ชันและแคลคูลัสกณิกนันต์; 1841)
- Exposition de la théorie des chances et des probabilités (คำอธิบายทฤษฎีโอกาสและความน่าจะเป็น; 1843)
- De l'origine et les limites de la correspondance entre l'algèbre et la géométrie (ที่มาและข้อจำกัดของความสมนัยระหว่างพีชคณิตและเรขาคณิต; 1847)
- Essai sur les caractères de la critique philosophique (ความเรียงว่าด้วยลักษณะของปรัชญาวิจารณ์; 1851)
- Traité de l'enchaînement des idées fondamentales dans les sciences et dans l'histoire (ศาสตรนิพนธ์เรื่องความเชื่อมโยงของความคิดมูลฐานในวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์; 1861)
- Principes de la théorie des richesses (หลักทฤษฎีทรัพย์; 1863)
- Considérations sur la marche des idées et des évènements dans les temps modernes (การพิจารณาว่าด้วยความก้าวหน้าของแนวคิดและเหตุการณ์ในยุคสมัยใหม่; 1872)
- Matérialisme, vitalisme, rationalisme: Études des données de la science en philosophie (สสารนิยม ชีวิตนิยม เหตุผลนิยม: การศึกษาการใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ในวิชาปรัชญา; 1875)
- Revue sommaire des doctrines économiques (บทปริทัศน์สรุปแนวคิดทางเศรษฐกิจ; 1877)
- Souvenirs 1760-1860 (ความทรงจำ 1760-1860; 1913)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Baloglou, Christos P. (2011). "Antoine Augustin Cournot". ใน Backhaus, Jürgen Georg (บ.ก.). Handbook of the History of Economic Thought. The European Heritage in Economics and the Social Sciences. Vol. 11. New York, NY: Springer. pp. 437–463. doi:10.1007/978-1-4419-8336-7_17. ISBN 978-1-4419-8336-7.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Haagsma, Rein. "Cournot, a non-strategic economist". ใน von Mouche, Pierre; Quartieri, Federico (บ.ก.). Equilibrium theory for Cournot oligopolies and related games: Essays in honour of Koji Okuguchi. Springer Series in Game Theory. Cham: Springer. pp. 15–29. doi:10.1007/978-3-319-29254-0_3. ISBN 978-3-319-29254-0.
- ↑ 3.0 3.1 Shubik, Martin (2008). "Microeconomics". New Palgrave dictionary of economics. London: Palgrave Macmillan. doi:10.1057/978-1-349-95121-5_147-2. ISBN 978-1-349-95121-5.
- ↑ 4.0 4.1 Theocharis, Reghinos D. (1993). The development of mathematical economics: The years of transition: From Cournot to Jevons. Basingstoke: Macmillan. doi:10.1007/978-1-349-12992-8. ISBN 978-1-349-12992-8.
- ↑ 5.0 5.1 Friedman, James W. (2000). "The legacy of Augustin Cournot". Cahiers d'Économie Politique. 37 (1): 31–46. doi:10.3406/cep.2000.1287.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Theocharis, Reghinos D. (1990). "A note on the lag in the recognition of Cournot's contribution to economic analysis". Canadian Journal of Economics. 23 (4): 923–933. doi:10.2307/135570.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Ekelund, Robert B.; Hébert, Robert F. (1990). "Cournot and his contemporaries: Is an obituary the only bad review?". Southern Economic Journal. 57 (1): 139–149. doi:10.2307/1060484.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Researches into the mathematical principles of the theory of wealth ฉบับแปลภาษาอังกฤษ จากอินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์ (อังกฤษ)